ค้นหา
เข้าสู่ระบบ
บทวิจารณ์บรรณาธิการ : สมองแห่งพุทธะ : Buddha's Brain
บทวิจารณ์บรรณาธิการ
วิธีฝึกสมองกับจิตใจให้ตื่นรู้ เพื่อนำไปสู่ความสุข ความรัก และปัญญา หนังสือธรรมะที่เผยความสัมพันธ์ระหว่าง สมองกับจิตใจ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ อย่างเป็นระบบเล่มแรก
หนังสือ
265.00 บาท
251.75 บาท
คอลัมน์ ดร.ณัชร ชวนจัดตู้หนังสือ เล่มที่ 26 วันนี้ จะมาชวนคุยถึงหนังสือ “สมองแห่งพุทธะ” (Buddha’s Brain)
“ หนังสือธรรมะ-วิทยาศาสตร์ เบสต์เซลเลอร์ระดับโลกที่มีการแปลออกไปแล้วถึง 25 ภาษากันค่ะ หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ดร.ริค แฮนสัน และ นพ.ริชาร์ด เมนดิอัส โดยมีดร.แฮนสันเป็นผู้เขียนหลักค่ะ ดร.แฮนสันเป็นนักจิตวิทยาด้านประสาทวิทยา หรือ วิทยาศาสตร์ทางสมอง ส่วนนพ.เมนดิอัสเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางประสาทวิทยาเช่นเดียวกันค่ะ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือทั้งสองท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญภาวนาตามหลักพระพุทธศาสนาถึงระดับเป็นครูสอนการภาวนาด้วยค่ะ ”
โดย ดร.ณัชร จัดหนังสือ
    
ในเล่มแบ่งเป็น 4 ภาค ค่ะ ประกอบไปด้วย  1) เหตุแห่งทุกข์  2) ความสุข  3) ความรัก และ 4) ปัญญา  ฟังดูไม่เป็นหัวข้อหนังสือวิทยาศาสตร์เลยใช่ไหมคะ  ที่มาของหนังสือเล่มนี้คือการเพิ่งค้นพบภายใน 20 ปีที่ผ่านมานี้เองค่ะว่า สมองนั้นสามารถเปลี่ยนตัวเองไปได้เรื่อย ๆ ตามพฤติกรรม สภาพแวดล้อม กระบวนการทางระบบประสาท ความคิด อารมณ์ ฯลฯ  

ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงมุ่งที่จะเป็นคู่มือการปฏิบัติสำหรับสมอง  นำเสนอวิธีการที่ท่านสามารถจะใช้ได้จริงเพื่อเปลี่ยนแปลงสมองของท่านให้ค่อย ๆ ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

ผู้เขียนกล่าวไว้ในบทนำว่า  หนังสือเล่มนี้มุ่งที่จะตอบคำถามว่า  1) สภาวะของสมองลักษณะใดที่เป็นรากฐานของสภาวะจิตใจที่มีความสุข ความรัก และ ปัญญา   (ซึ่งผู้วิจารณ์มองว่าคือสภาวะจิตใจของ “ผู้เบิกบาน ผู้ตื่น และ ผู้รู้” นั่นเองค่ะ)  2) เราจะใช้ใจกระตุ้นและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสภาวะของสมองในด้านบวกดังกล่าวนี้ได้อย่างไร

ซึ่งวิธีการฝึกใจที่ผู้เขียนนำเสนอซึ่งพิสูจน์โดยวิทยาศาสตร์มาแล้วก็คือการเจริญภาวนาในรูปแบบต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนานั่นเองค่ะ

ถึงแม้เนื้อหาในเล่มส่วนประสาทวิทยาที่อธิบายการทำงานของสมองจะมีความเป็นวิทยาศาสตร์สูง แต่วิธีนำเสนอเป็นแนวเล่าเรื่องจะช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นค่ะ

แถมผู้เขียนก็ใจกว้างพอที่จะบอกไว้ในบทนำว่า  ถ้าท่านสนใจในวิธีการฝึกปฎิบัติมากกว่า  ท่านก็สามารถจะอ่านข้ามส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ ไปบ้างก็ได้  

เช่น ผู้วิจารณ์คิดว่าท่านอาจจะไม่ต้องไปจำหรอกค่ะว่าการหายใจออกยาว ๆ จะไปกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเทติก  เพียงแค่จำว่าการหายใจออกยาว ๆ นั้นช่วยให้ท่านผ่อนคลายก็พอ  

หรือไม่ต้องไปจำว่าการเจริญสติภาวนาช่วยเพิ่มเนื้อเยื่อสมองส่วนที่เป็นสีเทาในสมองส่วนอินซูลา ฮิปโปแคมปัส และ คอร์เท็กซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า เพียงแค่รู้ว่าการเจริญสติภาวนาจะช่วยให้ท่านมีสมาธิดีขึ้น มีความเมตตามากขึ้น เข้าใจความรู้สึกผู้อื่นมากขึ้น และทำให้อารมณ์ดีขึ้นก็พอค่ะ

ผู้วิจารณ์เองก็สัมผัสได้ค่ะว่าดร.แฮนสันไม่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาในฐานะ “นักวิทยาศาสตร์”  หากแต่เขียนขึ้นมาในฐานะผู้ที่ได้รับประโยชน์มหาศาลจากการเจริญภาวนาตามแนวพระพุทธศาสนาคนหนึ่งที่มีจิตเมตตาอยากเห็นเพื่อนร่วมโลกได้รับความสุขสงบและปัญญาอย่างตนบ้าง  จึงใช้วิทยาศาสตร์เป็น “อุบาย” เพื่ออธิบายธรรมแค่นั้นเอง

ทำให้อยากบัญญัติศัพท์ใหม่มาเรียกเขาว่าเป็น “นักวิทยาศาสน์” เสียด้วยซ้ำไปค่ะ

ถ้าท่านอ่าน ๆ ไปแล้วรู้สึกยากในบางครั้ง(เหมือนผู้วิจารณ์ ซึ่งก็เป็นผู้แปลด้วย)ก็ขอแนะนำให้ลองดูภาพรวมของทั้งหน้าดูก่อน  ถ้ายังไม่แน่ใจก็ให้ข้ามไปอ่านข้อสรุป “ประเด็นหลัก” ท้ายบทก่อนนะคะ แล้วค่อยย้อนกลับมาอ่านในตัวบทอีกครั้ง จะอ่านได้สบายขึ้นค่ะ  

ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ในบทนำค่ะว่า “เมื่อคุณเปลี่ยนสมอง คุณก็เปลี่ยนชีวิตของคุณด้วย”

แล้วชีวิตของผู้เขียนล่ะเปลี่ยนไปอย่างไร  ผู้เขียนนำเสนอไว้ในลักษณะเล่าเรื่องด้วยภาษาที่เรียกได้ว่ากึ่ง ๆ จะเป็นกวีด้วยซ้ำในตอนท้ายบทสุดท้ายจากย่อหน้าล่างสุดหน้า 249 ไปถึงกลางหน้า 251 ค่ะ  

ถ้าท่านอ่านไปได้จนจบเล่มถึงตรงนั้นภาพรวมของหนังสือทั้งหมดก็จะประกอบกันเข้าอย่างลงตัวหมดจดงดงามเหมือนภาพจิ๊กซอว์ที่ต่อเสร็จสมบูรณ์ในที่สุดค่ะ  

ท่านจะเข้าใจเหมือนผู้วิจารณ์/ผู้แปลว่า อ้อ เพราะเหตุการณ์ตอนจบเล่มนั้นแหละ ที่นำมาสู่การเพียรพยายามค้นคว้าสาธยายเนื้อหาทั้งหลายอย่างละเอียดในเล่มนี้  เพื่อความสุข ความรัก และปัญญาญาณของพวกเราทุกคน  ยิ่งถ้าท่านเคยมีโมเม้นต์การเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมแบบเข้มเหมือนผู้เขียนและผู้วิจารณ์ท่านจะยิ่งเข้าใจค่ะ

หนังสือเล่มนี้เหมาะเป็นพิเศษสำหรับคนที่มีนิสัยพุทธิจริตค่ะ คือ ใฝ่รู้ มีเหตุผล ช่างสังเกต ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ มองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ใจกว้างปราศจากอคติ พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ ที่มีเหตุผลค่ะ  

นอกจากนี้ยังเหมาะกับผู้ที่เคยเจริญสติภาวนามาอย่างได้ผลแล้วและสนใจมิติทางวิทยาศาสตร์ของการภาวนาของตนเอง  

แต่โดยแก่นแท้แล้ว  หนังสือเล่มนี้มีทุกสิ่งสำหรับทุกคนที่แสวงหาความจริง และความสุขที่ยั่งยืนค่ะ

หนังสือเล่มนี้จะให้อะไรกับท่าน  ท่านคงต้องอ่าน(และลงมือปฏิบัติ)ด้วยตนเองค่ะ

ต้องมีเหตุผลอะไรสักอย่างแน่นอนที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ขายดีไปทั่วโลกแม้ในประเทศที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา  ถึงขนาดต้องแปลออกไปถึง 25 ภาษา  ท่านคิดเช่นนั้นไหมคะ?

หนังสือชื่อ สมองแห่งพุทธะ  แปลจาก Buddha’s Brain: The Practical Neuroscience of Happiness, Love and Wisdom ของ ดร.ริค แฮนสัน และ นพ.ริชาร์ด เมนดิอัส โดย ดร.ณัชร สยามวาลา สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ  พิมพ์ครั้งที่ 1 ก.ย. 2557  281 หน้า  ราคา 265 บาท  มีจำหน่ายตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปค่ะ
-----------------------------------------------------------------
คอลัมน์ "ดร.ณัชร ชวนจัดตู้หนังสือ" นี้ มีขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนไทยเพาะบ่มนิสัยรักการอ่านค่ะ


ลักษณะของหนังสือมีตำหนิ (หนังสือเกรด B)
ตัวอย่าง เกรด/สภาพ
สภาพหนังสือชำรุดเล็กน้อย (B1)
ปกพับ สันบุบ ขาด
ลดราคา 20%
สภาพหนังสือชำรุดปานกลาง (B2)
ปกพับ สันบุบ ขาด สังเกตเห็นได้ว่าขาด ชำรุดมาก
ลดราคา 30%
สภาพหนังสือเก่าชำรุดปานกลาง (B3)
แต่ไม่มาก อาจมีสภาพปกพับ ปกหักร่วมด้วย
ลดราคา 50%
สภาพหนังสือเก่ามาก (B4)
อาจมีสภาพชำรุดร่วมด้วย แต่เนื้อหายังครบถ้วน
ลดราคา 70%
(ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยน หรือคืนทุกกรณี ยกเว้นชำรุดอันเนื่องมาจากการพิมพ์)