ค้นหา
เข้าสู่ระบบ
บทวิจารณ์บรรณาธิการ : พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด
บทวิจารณ์บรรณาธิการ
คู่มือที่ได้จากการตกผลึกองค์ความรู้ และความพยายามของพนักงานทุกคนจากมูจิ อยู่ในมือคุณแล้ว
หนังสือ
195.00 บาท
185.25 บาท
คอลัมน์ “ดร.ณัชร จัดหนังสือ” เล่มที่ 466 วันนี้ จะมาคุยถึงหนังสือ ชื่อ “พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด”
“ หนังสือประกอบภาพกราฟฟิกตลอดเล่มเล่มนี้เล่าถึงวิธีที่ประธานบริษัทมูจิใช้ในการแก้ปัญหาทุกด้านของมูจิยุคตกต่ำอย่างได้ผล ต้องยอมรับว่าภาษาของท่านประธานอาจไม่ได้อ่านสนุกนัก และคำพูดกว้าง ๆ อย่างเช่นคำว่า “แผนงาน” นั้นตอนอ่านไปในบทแรกอาจจะฟังดูแล้วงง ๆ ไปสักนิดว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่ถ้าอ่านไปเรื่อย ๆ คุณจะพบว่า มันคือการปฏิวัติรูปแบบการทำงานใหม่หมดให้มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา และไม่มีการเสียเปล่านั่นเอง เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ คนทำงาน และผู้ที่สนใจเบื้องหลังการทำงานของร้านมูจิทุกคน ”
โดย ดร.ณัชร จัดหนังสือ
    
=น่าสนใจจากในเล่ม=
* มูจิเกิดขึ้นในยุคที่คนเห่อแบรนด์ดัง เป็นแนวคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแบรนด์ คำโปรยในตอนนั้นคือ “มีเหตุผลที่จะราคาถูก” ใช้การออกแบบเรียบง่าย ทบทวนการใช้วัตถุดิบใหม่ ลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิต ใช้บรรจุภัณฑ์เรียบง่าย
* ทราบหรือไม่ว่ามูจิมีคู่มือการทำงานหนากว่า 2,000 หน้า เรียกว่า MUJIGRAM
* เบื้องหลังความสำเร็จของมูจิคือ “แผนงาน” ที่จัดทำมาเป็นอย่างดี มันเป็นที่รวบรวมไอเดียดี ๆ ที่พนักงานทุกคนนำมาแชร์กันและอัพเดทอยู่เสมอ เพื่อให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานได้เร็วขึ้น
* คู่มือการทำงานของมูจิเป็นเครื่องมือที่แข็งแกร่งที่สุดที่ทำให้พนักงานทำงานในแต่ละวันได้อย่างมีชีวิตชีวา สนุกสนาน และไม่เกิดการสูญเปล่า
* MUJIGRAM คือสิ่งที่สร้างบรรยากาศแบบมูจิ ที่ไม่ว่าคุณจะเดินเข้าร้านไหนก็จะให้บรรยากาศเหมือนกัน
* มีปีหนึ่ง พนักงานหน้าร้านของมูจิได้ทำข้อเรียกร้องรวมแล้วกว่า 20,000 กรณีส่งมาที่สำนักงานใหญ่ ซึ่ง 443 เรื่องได้ถูกนำมาใช้และใส่ลงไปใน MUJIGRAM
* มุมมองและข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงจากลูกค้าและจากสต๊าฟ คือเสาหลักในการจัดทำคู่มือทำงาน
* การปล่อยให้พนักงานทำงานไปโดยไม่รู้เนื้อหาของแผนงาน และไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นสำคัญอย่างไร จะไม่ทำให้พนักงานเกิดแรงจูงใจ แต่ถ้าเขารู้ เขาก็จะทำสิ่งนั้นอย่างระมัดระวัง

* ใน MUJIGRAM ทุก ๆ หัวข้อจะต้องเขียนเหตุผลว่า “ทำไมงานนี้จึงสำคัญ” เพราะประเด็นอยู่ที่ว่า คู่มือไม่ได้เน้นบอกว่าจะต้องทำแบบไหน แต่เน้นว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นคืออะไรต่างหาก
* หนึ่งในตัวอย่างจาก MUJIGRAM คือ ให้กำหนดจำนวนครั้งที่เช็คอีเมลที่ปกติเช็คแล้วเช็คอีกหลายครั้งใน 1 วัน และเมื่อกำหนดจำนวนครั้งที่จะตอบอีเมลแล้ว ก็จะช่วยลดเวลาที่ต้องเสียไปในการเช็คอีเมลได้ อีกทั้งการอ่านอีเมลแล้วรอไว้ตอบทีหลังก็เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนเช่นกัน
* ในการทบทวนการทำงานที่ทำอยู่ 2 สิ่งที่ต้องคอยเช็คอยู่เสมอคือ 1) งานนั้นสำคัญจริง ๆ หรือ และ 2) ไม่มีงานอะไรขาดไปใช่ไหม
* การอัพเดทคู่มือปีละครั้งช้าเกิดไป เพราะตลาดเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อย่างน้อย ๆ ต้องทบทวนคู่มือการทำงานเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
* ทุกครั้งที่มีการไปเจรจาการค้ากับคู่ค้า จะต้องจดโน้ตย่อและแชร์ข้อมูลให้ทุกคนในแผนกรู้ทั่วกัน การรู้ว่าคนอื่น ตำแหน่งอื่น ทำงานอะไร ไม่ว่าใครก็สามารถสานต่องานต่าง ๆ ได้ทันที
* เมื่อมีการจัดทำบันทึกตัวอย่างปัญหาของลูกค้าและการจัดการปัญหาเข้าระบบไว้แชร์กัน เรื่องร้องเรียนก็ลดลงจาก 7,000 กรณีเหลือเพียง 1,000 กว่ากรณี
* การสอนงานแบบเดิม(สไตล์ญี่ปุ่น)นั้นหัวหน้งานจะสอนลูกน้องปากเปล่า ซึ่งวิธีนี้กว่าลูกน้องจะรอบรู้พอที่ขึ้นจะมาเป็นระดับหัวหน้าได้ก็ต้องใช้เวลาถึง 15 ปี แต่ระบบสร้างแผนงานของมูจิสามารถทำให้พนักงานใหม่ด้านบัญชีสามารถเข้าใจเนื้องานจนก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าได้ภายใน 5 ปี
* แม้แต่การแต่งหุ่นโชว์หน้าร้าน ซึ่งปกติต้องอาศัยคนที่มี sense ด้านนี้หรือมีประสบการณ์มาก่อนจึงจะจัดได้ แต่ในคู่มือของมูจินั้นรวบรวมหลักการไว้ชนิดที่ว่าพนักงานคนใดก็สามารถจัดการได้ เช่น การจัดเสื้อผ้าให้ใช้จับคู่สีเพียง 3 สี เป็นต้น (ในเล่มมีภาพประกอบ)
* ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบไหน ก็มี “หลักที่จะทำให้ทำงานได้ดี” อยู่ในคู่มือ
* วิธีการตั้งชื่อสินค้าแบบมูจิคือ จะต้องเป็นชื่อที่ลูกค้าสามารถเข้าใจได้ง่าย และไม่แต่งแต้มสินค้าให้ดูสวยหรูด้วยคำพูด แต่ให้เล่าเรื่องสินค้าอย่างตรงไปตรงมา ด้วยคำพูดที่ตรงไปตรงมา
* นอกจากปัจจัยภายนอก เช่น คู่แข่ง แล้ว ประธานบริษัทมูจิวิเคราะห์สาเหตุที่มูจิมีผลประกอบการตกต่ำยุคนั้นว่าเกิดจากปัจจัยภายในถึง 6 อย่างคือ
1) มั่นใจในตัวเองมากเกินไปจนเกิดความเย่อหยิ่ง
2) ขยายกิจการเร็วเกินไป
3) มาตรการแก้ปัญหาระยะสั้นที่เกิดจากความใจร้อนผลีผลาม
4) ความอ่อนแอของแบรนด์
5) ความผิดพลาดของกลยุทธ
6) การเปลี่ยนประธานบริษัทโดยไม่มีการสร้างแผนงานและวัฒนธรรมองค์กร
* เมื่อเจอปัญหา จงอย่าอ้างว่าเกิดจากปัจจัยภายนอก แต่ควรสำรวจปัจจัยภายในให้ถี่ถ้วน
* หนึ่งในวิธีการทำงานที่เกิดจากความคิดเห็นและองค์ความรู้ของสต๊าฟในสถานที่ปฏิบัติงานจริง คือ การให้สต๊าฟในร้านแต่ละคนนำสินค้าที่ตนเองอยากขายมาทดลองกำหนดราคาขาย และขายในราคาที่ถูกลง เช่น ลด 20% เป็นต้น
* มูจิให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเปิดเว็บไซต์ “สถาบันวิจัยสินค้าไลฟ์สไตล์” ขึ้นมาเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและเพื่อวสื่อสารกับลูกค้า ลูกค้าเองก็จะกระตือรือร้นที่จะแวะเวียนเข้ามาดูว่า ความเห็นของตัวเองถูกนำไปปรับใช้ได้จริงหรือไม่
* เมื่อตั้งเป้าหมายของเดือนว่า มาตั้งใจทักทายกันและกันให้ดีกันเถอะ ก็ทำให้ความเชื่อมั่นในทีมแข็งแกร่งขึ้น และทำให้ปริมาณสินค้าที่ผลิตเสียน้อยลง
* ที่มูจิจะไม่ใช้วิธีเรียกหัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงานตามความอาวุโสหรือเพศเหมือนบริษัทญี่ปุ่นทั่วไป แต่จะเรียกทุกคนเหมือน ๆ กันว่า “คุณ” (ซัง) เมื่อทำแล้ว ปรากฏว่าการสื่อสารข้อมูลและความคิดเห็นในองค์กรดีขึ้น
* มูจิลดทอนขั้นตอนตั้งแต่ยื่นข้อเสนอจนถึงการอนุมัติลงอย่างมาก จากที่เคยต้องอนุมัติเวียนกันไปเป็น 10 คนเหลือเพียง 3 คน เพื่อเน้นความรวดเร็วให้ทันท้องตลาด นั่นคือ เมื่ออนุมัติแล้วสามารถปฏิบัติในสถานที่จริงได้ทันที
* ผู้บริหารมูจิขอเข้าไป “ดูงาน” เพื่อเก็บองค์ความรู้ของบริษัทที่ประสบความสำเร็จอื่น ๆ ด้วย เช่น Triumph และสิ่งที่มูจิเรียนรู้มาจาก Triumph (วิธีการประชุมที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รวดเร็ว) ได้ชวยให้มูจิสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้จริงถึง 5,400 ล้านเยน
* เมื่อมีผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในบริษัท มูจิใช้วิธีดึงคนเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการในการทำสิ่งนั้น ๆ เสียเลย
* หลักสำคัญ 2 ประการในการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานคือ “การให้คุณค่าของสิ่งที่ทำ” และ “การติดต่อสื่อสารทีดี”
* ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยการจัดระเบียบโต๊ะทำงานและการใช้เอกสารร่วมกัน โดย “กฎการเคลียร์โต๊ะ” ของมูจิคือ ก่อนกลับบ้าน ห้ามมีของใช้ส่วนตัวหรือเอกสารหลงเหลืออยูบนโต๊ะเด็ดขาด
* การรายงาน ติดต่อ และปรึกษามากเกินไปเป็นพฤติกรรมที่ทำลายการเติบโตของพนักงาน
* เพื่อไม่ให้ใช้เวลากับการประชุมไปโดยสูญเปล่า มูจิกำหนดให้ทำข้อเสนอที่จะนำเสนอในที่ประชุมให้ย่อเหลือแค่ภายในกระดาษแผ่นเดียว
* สิ่งที่ประธานบริษัทมูจิกล่าวแนะนำให้พนักงานใหม่สมัยที่ตนเองเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายบุคคลก็คือ “ไม่ลนลาน ไม่เครียด ไม่เย่อหยิ่ง” หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ดีหรือไม่ดี คุณก็ควรทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่เครียดหรือกังวลอย่างขะมักเขม้น แล้วสิ่งนั้นก็จะเชื่อมโยงกับวิถีที่ตนเองเชื่อมั่น
* สำนวน “พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด” เป็นคำกล่าวโด่งดังของลุดวิกมีส ฟาน เดอร์โรห์ สถาปนิกชาวเยอรมัน ประธานบริษัทมูจิตีความว่า น่าจะหมายถึง “การให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยเป็นสิ่งที่กำหนดเนื้อแท้ของผลงาน” สำหรับมูจิแล้ว สิ่งนั้นก็คือ “แผนงาน” นั่นเอง
==ข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้==
* ประธานบริษัทมูจิฟื้นฟูกิจการตนเองขึ้นมาได้จากการทำขั้นตอนการดำเนินงานให้เรียบง่ายเข้าไว้ แต่ใส่ใจในรายละเอียดที่เป็นเนื้อแท้ของงาน เน้นให้ความสำคัญกับพนักงานหน้างาน และให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างแผนงานขึ้นมา โดยหมั่นปรับปรุงอัพเดทอยู่เสมอ
* มูจิเน้นการสร้างคน อีกทั้งยังคิดค้นวิธีที่จะสร้างคนขึ้นเป็นระดับหัวหน้าได้ในระยะเวลาอันสั้น และใช้การให้อิสระในการตัดสินใจหน้าร้านบ้างเป็นส่วนจูงใจให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองได้มีส่วนร่วม งานตนเองสนุก และได้ลุ้นกับผลลัพธ์ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง ตรงตามหลักจิตวิทยาว่าด้วยแรงจูงใจภายใน
หนังสือชื่อ “พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด” โดย ทาดามิตสึ มัตสึอิ แปลโดย ธาลินี โพธิ์อุบล สำนักพิมพ์ shortcut 125 หน้า ราคา 195 บาท มีจำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำและเวบไซต์ร้านหนังสือทั่วไป

ลักษณะของหนังสือมีตำหนิ (หนังสือเกรด B)
ตัวอย่าง เกรด/สภาพ
สภาพหนังสือชำรุดเล็กน้อย (B1)
ปกพับ สันบุบ ขาด
ลดราคา 20%
สภาพหนังสือชำรุดปานกลาง (B2)
ปกพับ สันบุบ ขาด สังเกตเห็นได้ว่าขาด ชำรุดมาก
ลดราคา 30%
สภาพหนังสือเก่าชำรุดปานกลาง (B3)
แต่ไม่มาก อาจมีสภาพปกพับ ปกหักร่วมด้วย
ลดราคา 50%
สภาพหนังสือเก่ามาก (B4)
อาจมีสภาพชำรุดร่วมด้วย แต่เนื้อหายังครบถ้วน
ลดราคา 70%
(ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยน หรือคืนทุกกรณี ยกเว้นชำรุดอันเนื่องมาจากการพิมพ์)