ค้นหา
เข้าสู่ระบบ
บทวิจารณ์บรรณาธิการ : ทำน้อยให้ได้มาก (The Power of Less)
บทวิจารณ์บรรณาธิการ
เคล็ดลับที่คนทำงานยุ่งตลอดเวลาไม่เคยรู้ เพราะการทำงานไม่ได้หมายถึงผลลัพธ์ที่เพิ่มขึ้นเสมอไป
หนังสือ
170.00 บาท
161.50 บาท
คอลัมน์ ดร.ณัชร ชวนจัดตู้หนังสือ เล่มที่ 13 วันนี้จะมาคุยถึงหนังสือชื่อ “ทำน้อยให้ได้มาก”
“ ซึ่งแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษชื่อ The Power of LESS ค่ะ เมื่ออ่านคำบรรยายบนปกหลังโดยเผิน ๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ฟังดูเหมือนหนังสือที่สอนเทคนิคในการจัดระเบียบชีวิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยทั่วไปนะคะ เปิดไปหน้าแรก ๆ ผู้วิจารณ์ก็คิดเช่นนั้น ในใจนึกถึงหนังสือเล่มอื่น ๆ แนวเดียวกันที่เคยอ่านนานแล้ว เช่น Eat That Frog ที่ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะว่ามีคนแปลชื่อภาษาไทยว่าอย่างไร (กินกบตัวนั้นซะ?) ”
โดย ดร.ณัชร จัดหนังสือ
    
แต่เนื่องจาก Leo Babauta ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้เป็นผู้เขียนบล็อกที่มีคนติดตามเป็นล้าน ๆ คนชื่อ Zenhabits นี่น่ะสิค่ะที่ทำให้ผู้วิจารณ์เดาว่าน่าจะมีอะไรที่ต่างออกไปจากหนังสือแนวนี้ทั่วไป

ในหน้าแรก ๆ ดูเหมือนความเป็นเซ็นที่ผู้แต่งนำมาแนะนำเป็นเทคนิคการ “ทำน้อยให้ได้มาก” จะมีเพียงแค่ “การจดจ่อ” (ซึ่งหมายถึง “การมีสมาธิ”)  และ “ความเรียบง่าย” เท่านั้น  ซึ่งก็ยังไม่นับว่าลงลึกไปในความเป็นเซ็นเท่าใดนัก  

แต่พอเริ่มเข้าบทที่ 4 เมื่อผู้แต่งเปิดบทด้วยการยกคำพูดของ ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน มาว่า “ผมไม่มีอะไรต้องทำกับอดีต หรือแม้แต่อนาคต ผมอยู่กับปัจจุบัน” เท่านั้นเองค่ะ  ผู้วิจารณ์ก็ร้อง “นั่นไง! ว่าแล้ว เจอจนได้”  ^_^

เจออะไรน่ะหรือคะ  ก็เจอบทที่ว่าด้วยการจดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะ  จดจ่ออยู่กับงานทีละอย่าง  และเทคนิคการฝึกให้อยู่กับปัจจุบันขณะให้ได้ในทุก ๆ กิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การวิ่งจ๊อกกิ้ง การล้างจาน การอาบน้ำ การขับรถ การทำงาน หรือแม้แต่การเล่นสนุกไงคะ  ซึ่งก็คือ “การเจริญสติ” นั่นเอง!

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือต่างประเทศอีกเล่มหนึ่งที่ผู้แต่งมีประสบการณ์ในการฝึกการเจริญสติมาก่อน  โดยสำหรับเล่มนี้เป็นการฝึกตามแบบนิกายเซ็น  และผู้แต่งได้นำหลักการเจริญสตินั้นไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและดังนั้นจึงเพิ่มคุณภาพชีวิตด้วยนั่นเองค่ะ  ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีหนังสือแนวนี้ออกมาเยอะนะคะทั้งจากฝั่งอเมริกาและฝั่งอังกฤษ  รวมทั้งเล่มที่ผู้วิจารณ์เลือกแปลและเริ่มวางจำหน่ายแล้วตอนนี้ด้วย นั่นก็คือ “ผู้นำอุดมสติ” (Mindful Leadership) ค่ะ   

กลับมาที่เล่มนี้นะคะ  ตั้งแต่หน้าแรก ๆ ผู้แต่งให้หลักการสำคัญที่จะใช้ “ทำน้อยให้ได้มาก” ไว้ 6 ข้อด้วยกันค่ะ  ได้แก่  1) สร้างข้อจำกัด  2) เลือกแต่สิ่งสำคัญ  3)  ทำให้เรียบง่ายขึ้น  4) จดจ่อ  5) สร้างนิสัย  และ 6) เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ค่ะ

จากนั้นใน 6 บทแรกก็จะเป็นเรื่องหลักการดังกล่าวนี้  นอกนั้นอีก 11 บทที่เหลือ (บทละสั้น ๆ ไม่ยาวมากค่ะ หนังสือเล่มนี้เล่มเล็ก ๆ บาง ๆ ค่ะ) จะเป็นการนำไปใช้จริงในสถานการณ์ต่าง ๆ ค่ะ เช่น  เป้าหมายและโครงการที่เรียบง่าย  งานที่เรียบง่าย  การบริหารเวลาที่เรียบง่าย  การจัดเก็บเอกสารที่เรียบง่าย  กิจวัตรประจำวันที่เรียบง่าย  ลดความเร็วลง  การดูแลสุขภาพร่างกายที่เรียบง่าย  และเรื่องเกี่ยวกับแรงจูงใจค่ะ

ในบรรดาหลักการทั้ง 6 ข้อ นั้น ผู้วิจารณ์ชอบข้อสุดท้ายเป็นพิเศษค่ะที่ว่า  ให้เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ หรือเริ่มต้นทำไปทีละน้อยก่อน  โดยผู้เขียนยกตัวอย่างว่า  ถ้าเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ก็ลองตั้งเป้าให้มีสมาธิได้นานต่อเนื่องขึ้นเพียงครั้งละ 5-10 นาทีก่อน  ถ้าอยากตื่นนอนให้เช้าขึ้น ก็เริ่มจากการตื่นเร็วขึ้นเพียง 15 นาทีก่อนแทนที่จะพยายามตื่นให้เร็วขึ้น 1 หรือ 2 ชั่วโมงทันที  และสำหรับผู้ที่อยากเริ่มออกกำลังกาย  ก็สามารถเริ่มได้จากวันละ 5-10 นาทีก่อนแทนที่จะเริ่มต้นที่ครึ่งชั่วโมงตั้งแต่แรกค่ะ   เพราะจากประสบการณ์ตรงของตัวเองก่อนจะอ่านหนังสือเล่มนี้ก็พบว่าการทำทีละน้อยก่อนแล้วค่อย ๆ เพิ่มไปทีละนิดนี้ได้ผลจริง ๆ นะคะ

เนื้อหาส่วนที่เหลือของหนังสือเล่มนี้นั้นก็จะเป็นแนวการจัดระเบียบชีวิตและการทำงานที่ท่านผู้อ่านพอจะเดาได้ค่ะ คือ การจัดห้องทำงานและบ้านให้เป็นระเบียบ  รู้จักจัดลำดับความคัญก่อนหลัง  และต้องใจเด็ดรู้จักเลือกแต่สิ่งที่สำคัญและตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นนักต่อชีวิตออกไปเหมือนที่ผู้วิจารณ์โปรยหัวเรื่องไว้น่ะค่ะว่า “ถ้าคุณกล้าตัด คุณก็มีสิทธิ์โต”

ถ้าคุณเคยอ่านหนังสือแนวนี้และเคยฝึกการเจริญสติมาแล้ว  หนังสือเล่มนี้ก็อาจจะไม่ได้ให้อะไรใหม่กับคุณมากนักค่ะ  แต่สำหรับท่านที่ยังไม่เคยอ่านแนวนี้หรือยังไม่เคยฝึกการเจริญสติและสนใจอยากจะจัดระเบียบชีวิตตนเองให้เรียบง่าย สงบสุข สบายใจขึ้น  หนังสือเล่มนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีค่ะ 

ชื่อหนังสือ ทำน้อยให้ได้มาก  แปลจาก The Power of LESS  ผู้เขียน  Leo Babauta ผู้แปล คุณวิกันดา พินทุวชิราภรณ์  สำนักพิมพ์วีเลิร์น   190 หน้า  ราคา 170 บาท
------------------------------------------------------------
คอลัมน์ "ดร.ณัชร ชวนจัดตู้หนังสือ" นี้ มีขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนไทยเพาะบ่มนิสัยรักการอ่านค่ะ



ลักษณะของหนังสือมีตำหนิ (หนังสือเกรด B)
ตัวอย่าง เกรด/สภาพ
สภาพหนังสือชำรุดเล็กน้อย (B1)
ปกพับ สันบุบ ขาด
ลดราคา 20%
สภาพหนังสือชำรุดปานกลาง (B2)
ปกพับ สันบุบ ขาด สังเกตเห็นได้ว่าขาด ชำรุดมาก
ลดราคา 30%
สภาพหนังสือเก่าชำรุดปานกลาง (B3)
แต่ไม่มาก อาจมีสภาพปกพับ ปกหักร่วมด้วย
ลดราคา 50%
สภาพหนังสือเก่ามาก (B4)
อาจมีสภาพชำรุดร่วมด้วย แต่เนื้อหายังครบถ้วน
ลดราคา 70%
(ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยน หรือคืนทุกกรณี ยกเว้นชำรุดอันเนื่องมาจากการพิมพ์)