ค้นหา
เข้าสู่ระบบ
บทวิจารณ์บรรณาธิการ : สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยนิสัยแค่ 1% : The Power of Habit
บทวิจารณ์บรรณาธิการ
สิ่งไม่สำคัญที่ทำอยู่ทุกวัน อาจเป็นจุดพลิกผันของชีวิตคุณ
หนังสือ
280.00 บาท
266.00 บาท
คอลัมน์ ดร.ณัชร ชวนจัดตู้หนังสือ เล่มที่ 22 วันนี้ จะมาชวนคุยถึงหนังสือชื่อ “สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยนิสัยแค่ 1%” ที่
“ เล่มนี้ติดอันดับ The New York Times Bestseller โดยมีผู้เขียนได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ทีเดียวค่ะ เขาทำวิจัยมาไม่น้อย ถึงจะเล่มหนาแต่ก็ไม่น่าเบื่อเพราะมีลีลาการเขียนแบบ suspense นิด ๆ แถมมี flashback ไปมาแบบนิยายค่ะ แต่ใครที่ไม่ชอบการเล่าเรื่องแบบย้อนกลับไปเรื่องนั้นทีเรื่องนี้ทีอาจเวียนหัวได้เหมือนกันนะคะ ”
โดย ดร.ณัชร จัดหนังสือ
    
ลักษณะหนังสือเป็นลูกผสมระหว่างจิตวิทยา พฤติกรรม สังคมวิทยา และประสาทวิทยาหรือวิทยาศาสตร์ด้านสมองค่ะ  ท่านใดมีน้องนุ่งลูกหลานเรียนวิชาเหล่านี้ก็น่าแนะนำให้อ่านเปิดหูเปิดตานอกตำราเรียนนะคะ

ในเล่มแบ่งเป็น 3 ส่วนค่ะ  ส่วนแรกจะอธิบายว่านิสัยของแต่ละคนเกิดขึ้นได้อย่างไร  จะศึกษาไปที่ระบบประสาทในสมองเพื่อค้นหาต้นตอของนิสัย มองหาวิธีเปลี่ยนนิสัยเดิม ๆ และปลูกฝังนิสัยใหม่ ๆ  ส่วนที่สองจะสำรวจนิสัยของบริษัทและองค์กรที่ประสบความสำเร็จ  โดยจะมีกรณีศึกษาเรื่องนิสัยหลัก  นิสัยแห่งความสำเร็จและนิสัยแห่งความหย่อนยาน  ส่วนสุดท้ายจะพูดถึงนิสัยของสังคมค่ะ  

โดยจะมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจหลายเรื่องมาเล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการฝึก “นิสัย” พนักงานของสตาร์บัคส์ซึ่งเป็นกิจจะลักษณะชนิดที่นำไปนับเป็นหน่วยกิตในการเรียนมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาได้ การใช้โปรแกรมสถิติคำนวณเดาข้อมูลส่วนตัวผู้บริโภคจาก “นิสัย” การซื้อของห้างทาร์เก็ตในอเมริกา  หรือแม้แต่การที่บริษัทใหญ่อย่างอัลโคสามารถเพิ่มมูลค่าหุ้นตัวเองขึ้นไปได้หลายเท่าเพียงเพราะเปลี่ยน “นิสัยหลัก” ในองค์กรเพียงนิสัยเดียว

ประเด็นน่าสนใจหลายเรื่องในหนังสือเล่มนี้มีดังนี้ค่ะ  ซึ่งหลายประเด็นผู้วิจารณ์อดมองเห็นไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่พระพุทธศาสนาสอนมานานแล้ว  ลองดูกันนะคะ

*  “...นักวิทยาศาสตร์มองว่านิสัยเกิดขึ้นได้เพราะสมองพยายามมองหาเครื่องทุ่นแรงอยู่ตลอดเวลา  หากเราปล่อยให้สมองทำงานเอง  มันจะพยายามเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันเกือบทุกอย่างให้กลายเป็นนิสัยเพราะจะทำให้สมองได้ผ่อนคลายลงบ้าง  และเมื่อสมองมีความสามารถที่จะทำเรื่องง่าย ๆ ได้โดยไม่ต้องคิด เช่น การเดิน เราจึงสามารถทุ่มเทพลังความคิดไปกับการคิดค้นสิ่งต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์อย่างระบบชลประทาน  เครื่องบิน  และวีดิโอเกมได้...”

ในมุมมองของพระพุทธศาสนาการทำอะไรจนเป็น “นิสัย” อัตโนมัติโดยไม่คิดนั้นมันก็คือการทำสิ่งต่าง ๆ ลงไปโดยไม่มีสติกำกับรู้นั่นเองค่ะ

*  “...กระบวนการการเกิดนิสัยเป็นวงจรที่มีองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกัน คือ สิ่งกระตุ้น กิจวัตร และ รางวัล...”  ทางวิทยาศาสตร์แบ่งการทำงานของสมองออกได้เป็นแค่ 3 ขั้นตอนแต่พระพุทธองค์ทรงสามารถอธิบายการทำงานของจิตไว้ได้ละเอียดถึง 17 ขั้นค่ะ  โดยย่อคือเมื่อมีสิ่งมากระทบอายตนะ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) แล้วใจพิจารณาว่าจะเสพอารมณ์นั้นหรือไม่ เสพแล้วรู้สึกชอบ ชัง หรือ เฉย ๆ แล้วนำอารมณ์นั้นมาเก็บเป็นความจำในภวังคจิตใหม่ 

แต่ถ้าอยากรู้ละเอียดกว่านี้คือจะใช้สติเข้าไปกำกับการทำงานของจิตเพื่อไม่ให้เกิดทุกข์ได้อย่างไรก็ต้องมาเข้าคอร์สการเจริญสติกับอาจารย์ของผู้วิจารณ์ที่มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ดูสักครั้งนะคะ ^_^

*  “...นิสัยเป็นสิ่งยากที่จะต้านทานเพราะมันทำให้สมองเราเกิดความโหยหา  โดยความโหยหาจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีตัวตนอยู่เราจึงมักมองไม่เห็นอิทธิพลของมัน...”  ตรงนี้ก็ตรงกับหลักพระพุทธศาสนาเรื่องอวิชชา ตัณหา และการขาดสติค่ะ  โดยในเล่มนี้มีตัวอย่างกรณีการฝึกแก้นิสัยติดการกัดเล็บอย่างรุนแรงของนักศึกษาคนหนึ่งโดยการฝึก “ความตระหนักรู้” ซึ่งก็คือการฝึกสตินั่นเองนะคะ โดยให้เธอคอยสังเกต “สิ่งกระตุ้น” ที่จะทำให้เธอเริ่มการกัดเล็บค่ะ

*  “...คนบางคนเปลี่ยนนิสัยหลังจากต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรม เช่น การหย่าร้างหรือโรคภัยไข้เจ็บที่เกือบคร่าชีวิต  ส่วนบางคนเปลี่ยนนิสัยเพราะเห็นเพื่อน ๆ พบเจอกับเหตุการณ์เลวร้าย...”  ตรงนี้ผู้วิจารณ์มองว่าตรงกับหลักของพระพุทธศาสนาเรื่องการเผชิญ “ทุกข์” ด้วยสติค่ะ  ถ้าเรากำหนดรู้ตัวทุกข์นั้นด้วยสติสิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือปัญญาค่ะ

*  “...ไมเคิล เฟลป์ส นักว่ายน้ำเจ้าเหรียญทองโอลิมปิคตอนเด็ก ๆ นั้นมีปัญหาเรื่องความเครียดเพราะพ่อแม่แยกทางกัน  โค้ชจึงซื้อหนังสือฝึกผ่อนคลายอารมณ์มาให้แม่ของเขาฝึกให้ฟังก่อนนอน หนังสือดังกล่าวมีบทพูดว่า “กำมือให้แน่นแล้วคลายออก จินตนาการว่าความเครียดหายไปแล้ว” ซึ่งช่วยให้เฟลป์สได้ฝึกผ่อนคลายร่างกายส่วนต่าง ๆ จนกระทั่งเขาหลับไป...”  ทักษะที่ไมเคิล เฟลป์สฝึกนั้นก็คือการเจริญสติฐานกายอย่างหนึ่งค่ะบวกกับการฝึกสมาธิไปด้วย

*  “...นักพนันคนหนึ่งหลังจากเธอสูญเสียเงินเก็บไปจนเกลี้ยง สูญเสียบ้าน ทนายความของเธอได้แก้ต่างต่อศาลสูงสุดของรัฐว่าเธอไม่ได้มี “สิทธิเลือก” ที่จะเล่นการพนัน แต่เธอถูก “นิสัย” ที่ควบคุมไม่ได้เข้าครอบงำต่างหาก  ดังนั้นเธอจึงไม่น่าจะต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินที่เกิดขึ้น...”  ตรงนี้ผู้วิจารณ์มองว่าเป็นการกระทำที่ทำลงไปด้วยความประมาทไร้สติอย่างสิ้นเชิงเลยนะคะ  ท่านผู้อ่านคิดว่าศาลจะพิพากษาอย่างไรคะ  ต้องลองอ่านเองในเล่มดูนะคะ

*  “...ถ้าคุณเชื่อว่าคุณสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ แล้วทำให้มันเป็นนิสัย  ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นจริง...”  การเริ่มต้นด้วย “ความเชื่อ” นั้นตรงกับหลักการพัฒนาตนเองหลักหนึ่งของพระพุทธศาสนาค่ะคือ อินทรีย์ 5 และ พละ 5 

นั่นก็คือเริ่มต้นด้วย “ศรัทธา” หรือความเชื่อ เมื่อมีศรัทธาก็จะก่อให้เกิด “วิริยะ” หรือความพากเพียรมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติ  ต่อจากนั้นต้องใช้ “สติ” เป็นตัวควบคุมค่ะ  เมื่อเจริญสติไปอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดกำลังของ “สมาธิ”  และเมื่อสติกับสมาธิมีความสมส่วนกัน “ปัญญา” ก็จะเกิดขึ้นได้ในที่สุดค่ะ

*  “...ถ้าคุณอยากเปลี่ยนแปลงนิสัย  คุณต้องเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงมัน คุณต้องบอกตัวเองอย่างมีสติว่า คุณจะตั้งใจค้นหาสิ่งกระตุ้นและรางวัลที่ทำให้คุณแสดงนิสัยบางอย่างออกมา  จากนั้นก็มองหาทางเลือกอื่น ๆ  แต่ก่อนอื่นคุณต้องรู้เสียก่อนว่าคุณมีอำนาจควบคุมและมีสติมากพอที่จะใช้มัน...”  

ประเด็นสุดท้ายนี้ชัดเจนมากเลยค่ะ  ถ้าท่านอยากเลิกนิสัยที่ไม่ดี และพัฒนานิสัยที่ดี ๆ ขึ้นมา  หนังสือเล่มนี้มีวิธีทางวิทยาศาสตร์มานำเสนอค่ะ  หรือไม่อีกวิธีหนึ่งผู้วิจารณ์มองว่าท่านเพียงไปเข้าคอร์สการเจริญสติตามหลักสติปัฏฐาน 4 และหมั่นฝึกเจริญสติเองเป็นประจำ  เพียงแค่นี้ท่านก็จะมี “กล่องเครื่องมือ” ที่พร้อมเสมอที่จะช่วยให้ท่านสามารถพัฒนานิสัยด้านบวกของตนเองแล้วค่ะ  

สำหรับคนที่ไม่เคยฝึกการเจริญสติ  หนังสือเล่มนี้น่าจะทำให้ท่านรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาทีเดียวค่ะว่าท่านเองก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ในแง่มุมที่ท่านอาจไม่เคยทราบมาก่อน  ส่วนท่านที่เคยฝึกการเจริญสติมาแล้วอาจจะแค่อมยิ้มนะคะเพราะรู้สึกว่าได้อ่านสิ่งที่เคยสัมผัสมาแล้ว  แต่ก็เป็นความรู้สึกที่ดีนะคะที่ได้เห็นวิทยาศาสตร์มายืนยันค่ะ

หนังสือชื่อ สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยนิสัยแค่ 1% แปลจาก The Power of Habit ของ Charles Duhigg โดย คุณ พรเลิศ อิฐฐ์ และ คุณ วิโรจน์ ภัทรทีปกร  สำนักพิมพ์วีเลิร์น 2557  360 หน้า  ราคา 280 บาท
-----------------------------------------------------------------
คอลัมน์ "ดร.ณัชร ชวนจัดตู้หนังสือ" นี้ มีขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนไทยเพาะบ่มนิสัยรักการอ่านค่ะ







ลักษณะของหนังสือมีตำหนิ (หนังสือเกรด B)
ตัวอย่าง เกรด/สภาพ
สภาพหนังสือชำรุดเล็กน้อย (B1)
ปกพับ สันบุบ ขาด
ลดราคา 20%
สภาพหนังสือชำรุดปานกลาง (B2)
ปกพับ สันบุบ ขาด สังเกตเห็นได้ว่าขาด ชำรุดมาก
ลดราคา 30%
สภาพหนังสือเก่าชำรุดปานกลาง (B3)
แต่ไม่มาก อาจมีสภาพปกพับ ปกหักร่วมด้วย
ลดราคา 50%
สภาพหนังสือเก่ามาก (B4)
อาจมีสภาพชำรุดร่วมด้วย แต่เนื้อหายังครบถ้วน
ลดราคา 70%
(ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยน หรือคืนทุกกรณี ยกเว้นชำรุดอันเนื่องมาจากการพิมพ์)