ค้นหา
เข้าสู่ระบบ
บทวิจารณ์บรรณาธิการ : ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง
บทวิจารณ์บรรณาธิการ
พูดไม่ต้องเก่งก็สามารถจับใจคนฟังได้ ด้วยเทคนิคลับเฉพาะจากนักจัดรายการวิทยุชื่อดังของญี่ปุ่น
หนังสือ
170.00 บาท
161.50 บาท
คอลัมน์ “ดร.ณัชร จัดหนังสือ” เล่มที่ 479 “ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง” ค่ะ
“ คุณคิดว่าคุณพูดเก่งหรือไม่ คนญี่ปุ่นมากกว่า 93% ที่ตอบแบบสอบถามของรายการวิทยุแห่งหนึ่งตอบว่าพวกเขา “พูดไม่เก่ง” แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้จะพูดไม่เก่ง คุณก็สามารถทำให้การสนทนาราบรื่น และคู่สนทนารู้สึกดีได้ คอลัมน์ “ดร.ณัชร จัดหนังสือ” เล่มที่ 479 “ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง” ค่ะ ”
โดย ดร.ณัชร จัดหนังสือ
    
=ภาพรวม=
หนังสือเล่มย่อมอ่านวันเดียวจบนี้เขียนขึ้นโดยนักจัดรายการวิทยุชาวญี่ปุ่น ซึ่งเดิมเป็นคนพูดไม่เก่ง แต่ก็หมั่นเพียรศึกษา สังเกต กล้าคิดกล้าทดลอง จนกลายมาเป็นนักจัดรายการวิทยุชื่อดังจนได้รับรางวัลได้
เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพราะเห็นว่า คนญี่ปุ่นจำนวนมากรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจเพราะคิดว่าตนเอง “พูดไม่เก่ง”
แต่ในขณะเดียวกันหนังสือแนะนำเทคนิคการพูดในร้านหนังสือส่วนใหญ่ที่เขาเห็นยังไม่ตอบโจทย์นัก เพราะจะเน้นไปเรื่องการพูดเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ ความก้าวหน้าทางการงาน ฯลฯ
ซึ่งผู้เขียนคิดว่า ส่วนใหญ่แล้วชีวิตคนเราต้องใช้ทักษะการคุยเล่นธรรมดาเป็นส่วนใหญ่ต่างหาก และจุดประสงค์ที่แท้จริงของการคุยคือความรู้สึกสบายใจร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ เขาจึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา
เหมาะกับผู้สนใจการพัฒนาตนเองทุกคนก็จริง แต่ครูว่าน่าจะเป็นประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับคุณผู้ชาย เพราะมีหมวดหนึ่งบอกว่า ให้ศึกษาและเอาอย่างการคุยเล่นแบบผู้หญิง และให้มองการคุยเล่นเหมือนเป็นเกม
หรือจะมองเหมือนเป็นการเล่นฟุตบอลก็ได้ นั่นคือมีการ “เลี้ยงลูก” “ส่งลูก” และ “รับลูก” ค่ะ
=น่าสนใจจากในเล่ม=
* เราอาจคิดว่าอยากคุยเก่งเพราะต้องการเงิน ความก้าวหน้า หรือความสำเร็จ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราต้องการและสำคัญจริง ๆ คือความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น
* เรามักเชื่อกันว่าการพูดที่จริงจัง เช่น การรายงาน การนำเสนองาน การสอนหนังสือ เป็นการสื่อสารที่สำคัญ
แต่ถ้าลองคิดดูดี ๆ จะพบว่าแต่ละวันคนเราต้องใช้การคุยเล่นทั่วไปมากกว่าอย่างเทียบไม่ติด แม้แต่ในการประชุมจริงจัง ก็ยังมีการคุยเล่นแฝงเป็นระยะ
* “ความบกพร่องด้านการสื่อสาร” เป็นโรคที่คนญี่ปุ่นเป็นกันมาก หมายถึงคนที่ไม่ถนัดหรือทรมานกับการพูดคุยเรื่องสัพเพเหระกับคนอื่น เข้ากับคนแปลกหน้าได้ยาก พูดจาตะกุกตะกัก และรู้สึกเป็นปมด้อยเรื่องการพูดทำให้ไม่ค่อยพูด
* คนที่รู้สึกว่าตัวเองพูดไม่เก่งอย่าเพิ่งท้อแท้ เพราะการสื่อสารเป็นทักษะที่ฝึกฝนกันได้ตราบใดที่มีความพยายาม
* ทัศนคติหนึ่งที่จะทำให้เครียดน้อยลงได้คือต้องรู้จัก “ปล่อยวาง”
นั่นคือ ให้คิดว่า การที่เราไปทักคนแล้วเขาไม่ทักตอบก็เป็นเรื่องธรรมดา ถามเขาแล้วไม่ตอบก็ธรรมดา เขาไม่ใส่ใจเราก็ธรรมดา พอปล่อยวางได้แล้วก็จะผ่อนคลายมากขึ้น ไม่เครียด
* ถ้ามองการพูดคุยเป็นเกม คุณอาจจะสนุกไปกับมันก็ได้ เกมการพูดคุยนี้เป็นเกมที่ “ไม่มีคู่ต่อสู้” แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในเกม โดยสิ่งที่ต้องเอาชนะในเกมก็คือ “ความอึดอัด”
* หลักการพื้นฐานที่ช่วยให้เล่นเกมได้ง่ายขึ้น คือ ต้องพยายามทำให้คู่สนทนาเป็นฝ่ายพูด
* วิธีจูงใจให้เขาพูดมีหลายวิธี แต่หลักสำคัญคือต้องสร้างบรรยากาศให้เขาได้ “พูดในสิ่งที่คิดและรู้สึกจริง ๆ ออกมา” ไม่ใช่บังคับให้เขาพูดในสิ่งที่คุณต้องการ
* เราจะทำให้คู่สนทนาได้พูดในสิ่งที่คิดและรู้สึกจริง ๆ ออกมาได้อย่างลื่นไหล คือต้องตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาพูด
เช่น เมื่อเริ่มต้นการสนทนาเรื่องทั่วไปให้สังเกตว่าอีกฝ่ายดูมีท่าทีกระตือรือร้นกับประเด็นใดเป็นพิเศษ จากนั้นก็ถามเขาเรื่องนั้น
* โดยธรรมชาติแล้วคนเราจะชอบพูดเรื่องที่ตนเองสนใจ
ดังนั้น ถ้าสามารถชักนำคู่สนทนาให้พูดเรื่องที่อยากพูดได้ เราก็ไม่แทบต้องทำอะไรเลยนอกจากพยักหน้าเออออและตั้งคำถามเล็ก ๆ น้อย ๆ
ซึ่งนับเป็นวิธีที่สบายมากสำหรับคนพูดไม่เก่ง
* จำไว้ว่าเป้าหมายของการคุยคือการรู้สึกดี ๆ ร่วมกัน ไม่ใช่การแสดงความโดดเด่นของตนเอง
* ในการสัมภาษณ์เพื่อเข้าทำงานเช่นกัน บริษัทชั้นนำจะไม่ตัดสินคนโดยดูว่าตอบคำถามเรื่องการงานได้ดีแค่ไหนเพราะมันเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนเตรียมตัวมาล่วงหน้าได้
เรื่องที่เขาสนใจคือ “ความรู้สึกที่ได้ระหว่างสัมภาษณ์” ต่างหาก
ดังนั้น ถ้าผู้สัมภาษณ์รู้สึกดี ก็มีโอกาสสูงที่เขาจะเลือกคุณแทนที่จะเลือกคนที่ตอบคำถามเก่งแต่คุยด้วยแล้วรู้สึกแย่
* มนุษย์มักมีสัญชาตญาณชอบเอาชนะมาตั้งแต่ยุคโบราณ วิธีการเอาชนะสัญชาตญาณนี้ได้แก่ 1) ชื่นชมคู่สนทนา 2) แสดงความรู้สึกทึ่งบ่อย ๆ 3) รู้สึกสนุกเข้าไว้
* การชื่นชมเป็นการ “ตระหนักถึงข้อดีของคนอื่น” และยังบังคับให้เราต้องตั้งสติสนใจสังเกตอีกฝ่าย ส่งผลให้เรายึดติดกับตนเองน้อยลง
* ช่วงนี้คุณได้ชมคนอื่นบ้างหรือเปล่า?
* การแสดงความรู้สึกทึ่งนั้น จะแฝงความรู้สึก “นับถือ” อีกฝ่ายลงไปด้วย ระหว่างคนที่ชมคุณด้วยหน้านิ่ง ๆ กับคนที่ชมคุณด้วยความทึ่งออกมาอย่างไม่กั๊ก คุณจะรู้สึกดีและอยากคุยกับใครมากกว่ากัน?
* ระลึกเสมอว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใจร้าย เขาไม่ได้เกลียดคุณเพียงเพราะคุณพูดไม่เก่ง
* แม้จะพูดพลาดไปบ้าง ก็ต้องรู้จักให้อภัยตนเอง
คนที่พูดเก่งนั้นก็ย่อมมีพลาดเหมือนกันแต่เขาจะไม่เก็บมาเสียใจหรือหดหู่ไม่เลิก แต่เขาจะมีทัศนคติที่ดีและให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียนรู้ได้และแก้ไขปรับปรุงได้
==ข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้==
* ทัศนคติที่ดีต่อตนเองและผู้อื่นเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของทักษะการพูดคุย ตามมาด้วยความกระตือรือร้นสนใจฟังและหมั่นตั้งคำถามอีกฝ่าย
ซึ่งการที่จะรู้ว่าจะถามอะไรดีนั้นทำได้ด้วยการตั้งสติหมั่นสังเกตสิ่งที่อีกฝ่ายให้ความสนใจ บางครั้งอาจเป็นในรูปแบบของสีหน้าท่าทาง น้ำเสียง ฯลฯ
* เช่นเดียวกับทักษะทุกประเภท แม้ตอนนี้เราจะพูดคุยไม่เก่งแต่ถ้าหมั่นพยายามฝึกฝนก็สามารถพัฒนาขึ้นมาได้
* ทุกคนย่อมมีพลาดได้เป็นธรรมดา คนที่รู้จักให้อภัยตนเองและหมั่นเรียนรู้แก้ไขไปเรื่อย ๆ จะเป็นผู้ที่คนคุยด้วยแล้วรู้สึกดีแน่นอน
หนังสือชื่อ “ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง” โดย โยชิดะ ฮิซะโนะริ แปลโดย โยซุเกะ สำนักพิมพ์วีเลิร์น 178 หน้า ราคา 170 บาท มีจำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำและเวบไซต์ร้านหนังสือทั่วไป

ลักษณะของหนังสือมีตำหนิ (หนังสือเกรด B)
ตัวอย่าง เกรด/สภาพ
สภาพหนังสือชำรุดเล็กน้อย (B1)
ปกพับ สันบุบ ขาด
ลดราคา 20%
สภาพหนังสือชำรุดปานกลาง (B2)
ปกพับ สันบุบ ขาด สังเกตเห็นได้ว่าขาด ชำรุดมาก
ลดราคา 30%
สภาพหนังสือเก่าชำรุดปานกลาง (B3)
แต่ไม่มาก อาจมีสภาพปกพับ ปกหักร่วมด้วย
ลดราคา 50%
สภาพหนังสือเก่ามาก (B4)
อาจมีสภาพชำรุดร่วมด้วย แต่เนื้อหายังครบถ้วน
ลดราคา 70%
(ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยน หรือคืนทุกกรณี ยกเว้นชำรุดอันเนื่องมาจากการพิมพ์)