ค้นหา
เข้าสู่ระบบ
บทวิจารณ์บรรณาธิการ : 66 วิธีลับคมสมอง
บทวิจารณ์บรรณาธิการ
สมองแกร่งขึ้น คิดไว จำแม่น ปราดเปรื่อง! ฝึกได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องรอวันสมองเสื่อม! กระตุ้นสมองทั้ง 8 ด้าน ให้ตื่นตัวด้วย 66 วิธีฝึกฝนง่ายๆ
หนังสือ
195.00 บาท
185.25 บาท
คอลัมน์ “ดร.ณัชร จัดหนังสือ” เล่มที่ 460 วันนี้ จะมาคุยถึงหนังสือ ชื่อ “66 วิธีลับคมสมอง”
“ หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนพ.โทะชิโนะริ คะโตะแพทย์ญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสมอง ผู้ที่ได้วิเคราะห์ภาพถ่ายสมองของคนมาแล้วถึง 10,000 คน ในเล่มแบ่งเป็นวิธีฝึกสมองตาม “รหัสสมอง” ต่าง ๆ ตามวิธีที่คุณหมอคะโตะเป็นผู้คิดค้นขึ้นมา สำหรับผู้ที่ชอบอ่านหนังสือแนวฝึกสมองอยู่แล้ว วิธีการฝึกสมองบางอย่างอาจคล้ายกับที่ท่านเคยทราบมาก่อน และวิธีการแบ่งส่วนต่าง ๆ ของ “รหัสสมอง” ของคุณหมอคะโตะก็อาจจะอ่านยากอยู่สักหน่อย แต่ก็มีเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่บ้างเช่นกัน ”
โดย ดร.ณัชร จัดหนังสือ
    
=น่าสนใจจากในเล่ม=
* สมองจะพัฒนาและเจริญเติบโตไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะสิ้นชีวิต
* การลับคมสมองต้องเริ่มจาก “การสั่งสมประสบการณ์” ให้มากที่สุด ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการท้าทายหรือลงมือทำอะไรใหม่ ๆ
* หากถือตัวหรือมีอคติในการทำอะไรใหม่ ๆ จนเกิดไป เราก็จะมีกิจกรรมให้เลือกทำน้อยลงไปอีก ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดโอกาสให้สมองได้ทำงาน ผลก็คือสมองไม่มีการเจริญเติบโตนั่นเอง
* ถ้าใครเริ่มรู้สึกตัวว่าความจำเสื่อม ควรเสริมสร้างความสามารถด้านความคิดให้แข็งแกร่งโดยการหาโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้อื่นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ
* “รหัสสมอง” สามารถแบ่งได้เป็น 8 กลุ่ม และควรหมั่นฝึกให้ครบทุกกลุ่ม แต่ละกลุ่มได้แก่ รหัสสมองด้าน 1) ความคิด 2) อารมณ์ 3) สื่อสาร 4) ความเข้าใจ 5) เคลื่อนไหว 6) ได้ยิน 7) มองเห็น 8) จดจำ
* สมองเราทุกส่วนล้วน “อยากเจริญเติบโต” แต่การที่เรารู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ เพราะคิดว่า “ทำอะไรก็ไม่ได้เรื่อง ไม่มีประโยชน์หรอก” เป็นตัวปิดกั้นข้อมูลที่จะเข้ารหัสสมอง ทำให้รหัสสมองหมดโอกาสที่จะเจริญเติบโต
* 3 สิ่งสำคัญในการกระตุ้นรหัสสมองคือ
1) ปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน แม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถให้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้
2) รู้จักนิสัยของสมอง เช่น สมองจะรู้สึกดีใจเมื่อได้รับคำชม เมื่อได้รับคำชมด้านใด สมองก็จะตอบสนองด้วยการทำสิ่งนั้น ๆ ได้ดี คำชมเป็นการกระตุ้นการเจริญเติบโตของรหัสสมองทุกส่วนได้อย่างดี
3) ลงมือทำ “สิ่งที่อยากทำ” เช่น ในบริบทของที่ทำงาน จงเปลี่ยน “ความคิดว่าถูกบังคับ” ให้เป็น “ความคิดที่ต้องการทำ” แทน จะกระตุ้นสมองได้
* ฝึกมอบหาข้อดีของคนรอบข้างให้ได้ 3 ข้อ
* ทบทวนเหตุการณ์ต่าง ๆ 3 อย่างก่อนนอน
* “ความอิจฉาริษยา” ส่งผลเสียต่อสมอง จะทำให้สมองร้อนขึ้นและความดันโลหิตของสมองส่วนหน้าสุดจะสูงขึ้น ผลก็คือประสิทธิภาพของอ๊อกซิเจนในสมองลดลง ส่งผลให้เราคิดเรื่องอะไรที่สลับซับซ้อนไม่ได้
* ในทางตรงกันข้าม “ความมุ่งมั่น” จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองส่วนนั้น
* จงพูดคุยกับพนักงานร้านกาแฟ เพราะเวลาเราคุยกับคนที่เราไม่รู้จัก เราจะคาดเดาอะไรเกี่ยวกับเขาไม่ได้ ดังนั้น สมองด้านการสื่อสารจึงทำงานอย่างเต็มที่
* ไปร้านหนังสือแล้วลองไปหยิบหนังสือในหมวดที่ปกติจะไม่อ่านขึ้นมาเปิดผ่าน ๆ แล้วทำความเข้าใจดู แค่ศึกษาข้อมูลจากปกเกี่ยวกับหนังสือและประวัติผู้แต่งก็จะช่วยกระตุ้นสมองได้แล้ว
* ความรู้สึกขอบคุณและความรู้สึกชื่นชมที่เรามีต่อใครจะช่วยกระตุ้นให้เราเข้าใจคนคนนั้นมากขึ้น จงนึกถึงบุคคลที่ชื่นชมแล้วเลือกลักษณะที่อยากเป็นให้ได้อย่างเขา หรือ อยากทำให้ได้อย่างเขามาสัก 3-4 อย่างแล้วทำตามสัก 1 สัปดาห์
* ลองแปรงฟันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัดดูบ้าง
* การเขียนบันทึกด้วยมือจะช่วยกระตุ้นสมองได้มากกว่าการใช้คอมพิวเตอร์อย่างมาก ไม่จำเป็นต้องเขียนอะไรที่ซับซ้อน เพียงเขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นวันนั้นสั้น ๆ ก็พอแล้ว และควรใช้ดินสอหรือหมึกซึมแทนปากกาลูกลื่นเพราะเวลาเขียนต้องควบคุมปลายปากกาอยู่ตลอดเวลา เป็นการฝึกสมองส่วนที่ควบคุมปลายนิ้วไปในตัว (เหมือนการฝึกสติ – ผู้วิจารณ์)
* เวลาคิดอะไรไม่ออก ควรออกไปเดินสัก 10-15 นาที เพราะจะเป็นการย้ายการทำงานของรหัสสมองด้านความคิดไปที่รหัสสมองด้านการเคลื่อนไหว สมองส่วนที่ใช้คิดและทำงานหนักมาตลอดจะได้หยุดพักบ้าง
* จงฝึกสังเกตและตั้งใจฟังเสียงธรรมชาติต่าง ๆ มนุษย์สามารถจดจำและฝึกกับเสียงจากธรรมชาติ เช่น ไก่ขัน นกร้อง สายฝนตกกระทบพื้น ฯลฯ ได้ดีกว่าเสียงประดิษฐ์ เช่น เสียงโทรศัพท์ เสียงรถ
* การฝึกสมองด้านการจดจำจะขาดการเชื่อมต่อกับสมองด้านความคิดและอารมณ์ไม่ได้เลย
* ควรฝึกทำสมาธิวันละ 20 นาที ถ้าทำไม่ได้ ลองหาเวลาวันละ 20 นาทีเพื่อพยายามจดจำอะไรสักอย่างให้ได้ภายในช่วงเวลานั้น ถ้าลำบากเกินไปอ่างน้อย 10 นาทีก่อนนอนก็ยังดี
* ลองคิดศัพท์ใหม่ ๆ หรือลองตั้งชื่อให้กับสิ่งที่ไม่เคยมีชื่อบ้าง (เช่น ตั้งชื่อให้กับของใช้หรือของเล่น – ผู้วิจารณ์)
* เพียงแค่ปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันก็เพียงพอที่จะกระตุ้นสมองได้แล้วก็จริง แต่ถ้าเราสามารถสร้างประสบการณ์ที่เข้มข้นถึงระดับเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือมุมมองของเราได้ สมองก็จะยอมรับการกระตุ้นนั้นด้วยความยินดี ผลลัพธ์ก็คือ สามารถดึงเอา “ศักยภาพลับที่ซ่อนอยู่” ออกมาได้
==ข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้==
* สมองสามารถเจริญเติบโตและพัฒนาไปได้ตลอดชีวิต ดังนั้นไม่ว่าวัยใดก็ควรใส่ใจกับการพัฒนาสมอง
* ถ้าใช้สมองส่วนใดส่วนหนึ่งไปนาน ๆ ควรหาโอกาสให้มันพักบ้างโดยเปลี่ยนไปทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมองส่วนอื่น ๆ แทน
* สิ่งที่จะช่วยพัฒนาสมองได้คือการเปิดใจและการลองหาประสบการณ์แปลกใหม่ การพยายามสิ่งที่ท้าทาย การนึกถึงสิ่งดี ๆ ทุกวัน ตลอดจนความรู้สึกขอบคุณและชื่นชม
หนังสือชื่อ “66 วิธีลับคมสมอง” โดย นพ.โทะชิโนะริ คะโตะ แปลโดยอังคณา รัตนจันทร์ สำนักพิมพ์นานมี พ.ศ. 2559 224 หน้า ราคา 195 บาท มีจำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำและเวบไซต์ร้านหนังสือทั่วไป 
----------------------------
คอลัมน์ “ดร.ณัชร จัดหนังสือ” มีขึ้นเพื่อส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาตนเองและประเทศชาติ โดยผู้วิจารณ์เลือกอ่านเองโดยอิสระไม่ได้รับจ้างสำนักพิมพ์ใดมาเขียน
เพจ “ดร.ณัชร” เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ด้วยความตั้งใจที่จะทำความดีถวายในหลวงร.๙

ลักษณะของหนังสือมีตำหนิ (หนังสือเกรด B)
ตัวอย่าง เกรด/สภาพ
สภาพหนังสือชำรุดเล็กน้อย (B1)
ปกพับ สันบุบ ขาด
ลดราคา 20%
สภาพหนังสือชำรุดปานกลาง (B2)
ปกพับ สันบุบ ขาด สังเกตเห็นได้ว่าขาด ชำรุดมาก
ลดราคา 30%
สภาพหนังสือเก่าชำรุดปานกลาง (B3)
แต่ไม่มาก อาจมีสภาพปกพับ ปกหักร่วมด้วย
ลดราคา 50%
สภาพหนังสือเก่ามาก (B4)
อาจมีสภาพชำรุดร่วมด้วย แต่เนื้อหายังครบถ้วน
ลดราคา 70%
(ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยน หรือคืนทุกกรณี ยกเว้นชำรุดอันเนื่องมาจากการพิมพ์)